เรื่องการออกแบบและเตรียมไฟล์เพื่อจัดพิมพ์
 








เรื่องการออกแบบและเตรียมไฟล์เพื่อจัดพิมพ์

งานออกแบบเป็นเรื่องที่สื่อสารกันได้ยาก เพราะรสนิยมของแต่ละบุคคลแต่ละท่านแตกต่างกันไป งานหนึ่งคนหนึ่งว่าสวย อีกคนว่าไม่สวย ซึ่งการออกแบบเพื่อใช้ผลิตสิ่งพิมพ์นั้น เป็นไปได้อยู่ 2 ทาง คือ
1.ลูกค้าออกแบบมาเอง ซึ่งจะทำให้ลูกค้าสะดวก รวดเร็ว และได้รูปแบบอย่างที่ตนต้องการ และ
2. ให้ทางโรงพิมพ์ออกแบบให้ เหมาะสำหรับลูกค้าที่ไม่มีฝ่ายออกแบบเอง ซึ่งไม่ว่าทางลูกค้าจะออกแบบมาเอง หรือให้ทางโรงพิมพ์ออกแบบให้ก็มีข้อพึงระวังดังต่อไปนี้
 
สำหรับลูกค้าให้ทางโรงพิมพ์ออกแบบให้ ในเบื้องต้นลูกค้าต้องเตรียมสิ่งเหล่านี้ คือ
1. ดีไซน์ใกล้เคียงที่ท่านต้องการ หรือตัวชิ้นงานที่ท่านชอบ
2. การจัดวางหน้ากระดาษที่ท่านต้องการ
3. รูปภาพอย่างครบถ้วน
4. รายละเอียด ตัวหนังสือ ข้อมูล เป็นไฟล์ word, notepad, pdf, ai
5. โทนสีที่ท่านต้องการ
 
 
สำหรับลูกค้าที่จัดเตรียมไฟล์งานสำเร็จ ควรตรวจสอบงานเบื้องต้น คือ
 
1.ไฟล์งานควรจะเป็นรูปแบบนามสกุล ดังนี้เช่น . AI, .PSD, .TIF, .PDF หรือ JPG ฯลฯ โดยต้องตั้งค่า Color Mode เป็น CMYK เท่านั้น ไม่ใช่  RGB เพื่อให้สีใกล้เคียงกับที่ท่านต้องการ
-  หากไฟล์งานเป็น . AI จะต้องทำการ Create Outline เพื่อทำการแปลงฟอนต์ให้เป็นไฟล์ภาพ และทำการ Embed Image เพื่อทำการฝังรูปภาพลงไปในเนื้องาน ในกรณีที่มีการใช้รูปภาพประกอบลงไปในเนื้องาน
-  หากไฟล์งานเป็น . PSD จะต้องส่งฟอนต์ที่ใช้ในการออกแบบหรือแจ้งรูปแบบฟอนต์ที่ใช้ในการออกแบบมาให้เรา เนื่องจากบางทีทางเราอาจไม่มีฟอนต์นั้นๆ
-  หากไฟล์งานเป็น . JPG หรือ .JPEG จะต้องทำการ Save ไฟล์งาน Resolution ที่ 300 DPI และ Save Image Quality ที่ High ส่วน Color Mode คือ CMYK ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น หรือ หากไม่ทราบว่าไฟล์งานคมชัดเพียงพอสำหรับทำการพิมพ์หรือไม่ ให้ลองทำการ Zoom ไฟล์งานที่ 300% เพื่อดูว่า ภาพและตัวหนังสือยังคมชัดอยู่หรือไม่ ถ้าคมชัดไฟล์งานนั้นๆก็ใช้ได้
 
2. ลูกค้า ควรวางตัวหนังสือ หรือ รูปภาพที่สำคัญ ๆ ไว้ใน Save Zone ซึ่ง Save Zone คือ กรอบของพื้นที่ที่ปลอดภัยจากความคลาดเคลื่อนในการตัดเจียน แนวของขอบทำงานจะร่นเข้าไปในเนื้องานจากแนวตัดเจียน ดังนั้นเนื้องานที่สำคัญ เช่น ข้อความต่าง ๆ จะไม่ถูกตัดขาดหายไปถ้าถูกจัดวางไม่เลยออกนอกขอบทำงานนี้ ดังนั้น ควรเว้นระยะ Save Zone เข้ามา เพื่อไม่ให้ตัวหนังสือ ถูกตัดขาดแล้วจะไม่มีส่วนที่หายไป โดยมีรายละเอียดดังนี้
·       ใบปลิว Save Zone : 3 mm เข้ามาวัดจากรอบด้าน
·       หนังสือมุงหลังคา : 8 mm เข้ามาวัดจากรอบด้าน
·       หนังสือใสกาว : 5 mm เข้ามาวัดจากรอบด้าน ยกเว้น ฝั่งเข้าสัน 1.2 cm
 
3. ลูกค้าควรเผื่อระยะ ตัดตก (bleed) ซึ่งเป็นการเผื่อพื้นที่รอบขอบของงานออกแบบสิ่งพิมพ์ ในการจัดทำอาร์ตเวิร์คสำหรับงานพิมพ์นั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงภาพหรือสีส่วนที่ปรากฏโดยรอบขอบของชิ้นงานพิมพ์ หากเราออกแบบสิ่งพิมพ์ให้ภาพ/สีบริเวณนั้นไปสิ้นสุดที่แนวขนาดของชิ้นงานพิมพ์ ชิ้นงานพิมพ์ที่ออกมาอาจจะปรากฏขอบขาวได้ทั้งนี้เกิดจากความคลาดเคลื่อนช่วงตัดเจียนขอบชิ้นงานพิมพ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในขบวนการผลิต การทำอาร์ตเวิร์คจึงต้องเผื่อพื้นที่ของภาพ/สีเกินออกนอกบริเวณขอบที่เป็นแนวของขนาดชิ้นงานพิมพ์ ดังนั้นจึงมีการกำหนดขอบเขตโดยรอบชิ้นงานดังนี้
·         ใบปลิว ตัดตก : 2 mm รอบด้าน

Project Image

·         หนังสือ : 3 mm รอบด้าน  

 

วิธีการตั้งค่าในโปรแกรม Ai
 


การเซฟไฟล์งานจาก Indesign
Project Image

4. ความละเอียดของ file ภาพ (File Resolution)ในการออกแบบสิ่งพิมพ์ก่อนทำการพิมพ์งาน มีหน่วยวัดเป็น dots per inch (DPI) หรือ pixels per inch (PPI) คือความหนาแน่นของเม็ดสีต่อความยาว 1 นิ้ว ในแนวตั้ง/แนวนอน ความหนาแน่น (DPI) ยิ่งมาก ความละเอียดและความคมชัดของภาพจะยิ่งสูงขึ้น ความละเอียดของภาพที่แสดงบนจอ monitor จะอยู่ที่ 72 DPI ก็เพียงพอ แต่สำหรับงานพิมพ์ในระบบออฟเซ็ทแล้ว การออกแบบสิ่งพิมพ์จำเป็นต้องใช้ความละเอียดไม่น้อยกว่า 300 DPI ภาพพิมพ์ที่ได้จึงจะมีความคมชัดและให้รายละเอียดที่ดี และถ้าสามารถกำหนดให้การออกแบบสิ่งพิมพ์ละเอียดยิ่งขึ้น ก็จะทำให้ภาพพิมพ์ออกมามีคุณภาพดียิ่งขึ้น
 
5. สีบนจอกับสีในงานพิมพ์ของการออกแบบสิ่งพิมพ์ มักจะมีคำถามอยู่เสมอว่าทำไมภาพบนจอ  monitor จึงดูสดใสกว่างานพิมพ์ที่พิมพ์ด้วยระบบออฟเซ็ท ที่เป็นเช่นนี้เนื่องมาจาก ภาพที่เห็นบนจอ monitor เกิดจากจุดกำเนิดแสงสี 3 สี (red, green, blue) ส่องทะลุผ่านจอเข้าตาของเรา ผิดกับภาพที่เห็นบนแผ่นกระดาษพิมพ์ซึ่งเกิดจาก แสงสีขาวสะท้อนผิวขาวของกระดาษผ่านชั้นหมึกพิมพ์ 4 สี (yellow, magenta, cyan, black) แล้วจึงเข้าสู่ตาของเรา หาก file งานเป็น RGB file สีบางเฉดสีที่เห็นบนจอซึ่งเกิดจากการผสมของแม่สี RGB (สีบางสีมีความสดมาก) ไม่สามารถแปลงค่ามาอยู่ในระบบแม่สีแบบ CMYK ได้ จึงทำให้สีเพี้ยนไปไม่เหมือนหน้าจอ เพื่อให้ดูใกล้เคียงกับงานพิมพ์ ให้กด ‘Ctrl’ กับ ‘Y’ เพื่อทดสอบดูสีในระบบ CMYK และก่อนส่ง file งานให้ทางโรงพิมพ์ ให้แปลง file งานให้อยู่ใน mode CMYK
 
6. Fonts และ Transparency ของการออกแบบสิ่งพิมพ์ สำหรับ file งานที่ทำในโปรแกรม InDesign และ Illustrator หรือโปรแกรมที่เป็น vector format ก่อนที่จะทำการส่ง file งานให้โรงพิมพ์ ควรใช้คำสั่ง Flatten ส่วนที่เป็น transparency หรือ ส่วนที่เป็น effect ทั้งหลาย อีกทั้งให้ทำ outline สำหรับ font ของตัวอักษรทั้งหลาย ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการตกหล่นของส่วนที่เป็น transparency หรือความคลาดเคลื่อนของ font ที่อาจเกิดขึ้นได้
 
7. Background สีดำของงานออกแบบสิ่งพิมพ์  ในการให้สีพื้นหลัง (Background) ที่เป็นสีดำ (K 100) ให้ตรวจสอบดูว่าบริเวณดังกล่าวมีเปอร์เซ็นต์ของแม่สีอื่น ๆ ติดอยู่เท่าไร หากมีเปอร์เซ็นต์ของแม่สีอื่น ๆ อยู่สูง เช่น Y 100 M 100 C 100 จะทำให้การพิมพ์มีปัญหา เวลาพิมพ์งาน ชั้นของหมึกบริเวณนั้นจะหนามากและจะแห้งช้า ทำให้สีไปเลอะบนแผ่นพิมพ์ที่อยู่ติดกันและจะทำให้งานเสียหาย เพื่อป้องกันไม่เกิดอาการนี้ ควรตั้งเปอร์เซ็นต์ของสีสำหรับพื้นที่สีดำ ดังนี้ K 100 Y 40 M 50 C 40 (เปอร์เซ็นต์ของ Y M และ C สามารถลดต่ำกว่านี่ได้) หรืออาจจะตั้งค่า K เท่ากับ 100 แล้วเลือกสีอื่นสีใดสีหนึ่ง ตั้งค่าไม่เกิน 50
 
8. ตัวอักษรเจาะขาว บ่อยครั้งที่นักออกแบบนิยมทำตัวอักษรเจาะขาวบนพื้นสีเข้มเพื่อดูสะดุดตา หากตัวอักษรดังกล่าวมีขนาดเล็กและบางมากจะสร้างปัญหาให้กับการพิมพ์ทำให้ตัวอักษรขาดหายอ่านไม่ออก สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เกิดได้จากการจ่ายหมึกมากเกินไป และหรือมีการเหลื่อมกันของสีแต่ละสีอันเนื่องจากการพิมพ์ซ้อนทับของสีคลาดกันหรือเนื่องจากปัญหาจากกระดาษยืดหดในระหว่างพิมพ์ จึงทำให้พื้นที่ที่เจาะขาวมีสีเข้าไปทับเป็นเหตุให้ตัวอักษรขาดหายไป ดังนั้นการทำตัวอักษรเจาะขาวไม่ควรให้เส้นบางจนเกินไปเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว
 
9. การออกแบบงานพิมพ์ ควรหลีกเลี่ยงการใช้สีพื้น (งานที่เป็นสีเรียบๆ ไม่มีลวดลาย) เพราะ ปัญหาของสีพื้นในการพิมพ์ มีหลายประการ เช่น
ความเรียบ  คือ งานที่พิมพ์ออกมาจะไม่ได้เรียบ 100% ยิ่งสีเข้มจะเห็นได้ชัด
ร่องรอยต่างๆในงาน งานพิมพ์สีพื้นอาจจะมีจุดเล็กๆ หรือรอยขีดข่วนปะปนอยู่บ้าง เพราะเกิดจากเศษฝุ่นกระดาษ และพื้นผิวที่ไม่เรียบของกระดาษ
สีพื้นพับแล้วแตก หากลูกค้าออกแบบสีพื้นเข้มๆมาและต้องการพับงานชิ้นนั้น สีพื้นตรงขอบงานคุณต้องแตกเห็นเนื้อกระดาษสีขาวแน่ๆ
 
วิธีแก้ปัญหาหากจำเป็นต้องใช้สีพื้น
1. ถ้าเป็นไปได้ลูกค้า ควรหลีกเลี่ยงการออกแบบงานสีพื้นแปลนใหญ่ๆ หรือพื้นที่ใหญ่ๆ
2. แผ่นพับควรหลีกเลี่ยงการใส่สีพื้นตรงขอบงานพับ เพราะจะทำให้ขอบแตก
3. เคลือบ พลาสติกที่งานเพื่อลดปัญหา พลาสติกจะช่วยให้แตกน้อยลงมาก
4. ปั๊มเส้นพับแทนการพับทันที จะสามารถลดรอยแตกได้ และแนะนำว่ากระดาษควรหนาตั้งแต่ 190 แกรมเป็นต้นไป
 

 
ไม่ว่าท่านกำลังเริ่มใช้สิ่งพิมพ์หรือกำลังหางานพิมพ์อยู่หรือมีปัญหางานพิมพ์ โรงพิมพ์ บีพีเค พริ้นติ้งของเรา ซึ่งยึดมั่นในอุดมการณ์ที่จะส่งมอบรวดเร็ว งานพิมพ์มีคุณภาพ ในราคาที่ถูก ยินดีให้คำปรึกษาครับ

วิธีการเตรียมไฟล์เพื่อไว้ส่งโรงพิมพ์